ผมที่ปลูกขึ้นไม่ดี เพราะรากผมมาจาก “นอก Safe Zone”

ในบทความนี้ เราจะนำเสนอเกี่ยวกับเคสคนไข้ที่ผมที่ปลูกขึ้นไม่ดี (แทบจะไม่ขึ้นเลยก็ว่าได้ – มีภาพประกอบด้านล่าง) แต่ก่อนอื่น เรามารู้จักกับคำว่า “Safe Zone” ในการผ่าตัดปลูกผมกันก่อน

สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าการผ่าตัดปลูกผมมีวิธีการอย่างไร การผ่าตัดปลูกผม คือ การผ่าตัดที่ย้ายรากผมจากตำแหน่งหนึ่ง (เราจะเรียกว่า Donor area) ไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง (Recipient area) ส่วนใหญ่แล้ว ก็คือการย้ายผมจากด้านหลังหนังศีรษะที่มีผมหนาแหน่นไปยังด้านหน้าหรือกระหม่อมที่ไม่มีเส้นผมหรือผมบาง

แล้ว Safe Zone คือ อะไร?

Safe zone ก็คือ บริเวณของ Donor area ที่เส้นผมมีคุณภาพเหมาะสมแก่การย้ายไปปลูกบริเวณ Recipient area เนื่องจากเป็นเส้นผมที่สามารถต้านฮอร์โมนเพศชายได้ ทำให้เส้นผมเหล่านี้ไม่หลุดร่วงหรือไม่บางลงจากฤทธิ์ของฮอร์โมน

สำหรับเคสตัวอย่างนี้ เป็นเคสผู้ชาย เชื้อสายเอเชีย อายุ 27 ปี ผู้ป่วยได้เข้ารับการผ่าตัดปลูกผมเพื่อที่จะสร้างแนวผมใหม่ แต่โชคไม่ดีที่คลินิกที่เขาเข้ารับการผ่าตัดได้ย้ายรากผมจากบริเวณที่ไม่ได้อยู่ใน Safe Zone

ศัลยแพทย์ปลูกผมที่มีประสบการณ์จะทราบกันดูอยู่แล้วว่าบริเวณไหนเป็น Safe Zone การที่เลือกรากผมที่อยู่นอก Safe Zone มาทำการปลูกผมนั้น จะทำให้สุดท้ายแล้วผมที่ปลูกหลุดร่วงเมื่อเวลาผ่านไป ในเคสนี้ นอกจากปัญหาเรื่องการย้ายรากผมมาจากนอก Safe zone แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องความหนาแน่นของบริเวณที่ปลูกผมด้วย โดนบริเวณที่ปลูกผมนั้นมีความหนาแน่นของเส้นผมน้อยกว่าบริเวณที่เป็นผมจริงมาก ทำให้ผลการผ่าตัดดูไม่มีความเป็นธรรมชาติ

อีกทั้งผมที่ปลูกยังผิดทิศทางและดูไม่สม่ำเสมอโดยเฉพาะบริเวณขมับทั้งสองข้าง ซึ่งตามปกติแล้วหากคนไข้มีอายุน้อย การปลูกผมบริเวณขมับอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เนื่องจากเมื่อผู้ป่วยอายุมากขึ้น แนวผมบริเวณขมับมักจะถอยร่นไปอีก ทำให้ผมที่ปลูกบริเวณขมับกลายเป็นกอผมโดดๆ เหมือน “เกาะ” เหลืออยู่ ทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติและอาจสร้างความลำบากใจให้กับผู้ป่วยได้

ผู้ป่วยรายนี้เข้ามาปรึกษากับ Dr. Inder Kaur ศัลยแพทย์ปลูกผมประเทศมาเลเซีย เขาเล่าว่าเขาได้กลับไปที่คลินิกที่ปลูกผมให้เขาครั้งแรกว่าเขาไม่พอใจกับผลการผ่าตัดอย่างมาก แต่แพทย์คลินิกนั้นก็บอกว่าผมที่ปลูกก็ดูดีและทุกอย่างดูปกติดี แน่นอนว่าผู้ป่วยไม่พอใจอย่างมาก ถึงแม้ว่าแพทย์ที่คลินิกนั้นได้เสนอว่าจะปลูกผมแก้ให้ฟรี แต่ผู้ป่วยก็ไม่ไว้ใจแพทย์คนนั้นอีกต่อไปแล้ว

ผู้ป่วยจึงตัดสินใจว่าเขาต้องเลือกคุณหมอที่เชี่ยวชาญและมีคุณภาพจริงๆ เพื่อผ่าตัดแก้ไขให้เขา เขาจึงตัดสินใจมาหา Dr. Inder Kaur ตอนแรก Dr. Kaur ได้แนะนำให้รอให้ผมยาวขึ้นก่อนและกลับมาปรึกษาอีกครั้งเพื่อประเมินและวางแผนการผ่าตัดได้แม่นยำขึ้น

Dr. Kaur ได้ออกแบบแนวผมใหม่ให้กับผู้ป่วย โดยจะปลูกทับส่วนที่เคยปลูกไปแล้ว เพื่อบดบังเส้นผมที่ขึ้นไม่ดี หรือเส้นที่ขึ้นผิดทิศทาง

หลังจากนั้น Dr. Kaur ก็ทำการโกนผมของผู้ป่วยเพื่อเริ่มการผ่าตัดและใช้ปากกาวาดตำแหน่งที่จะเจาะรากผมออกมาจากด้านหลังหนังศีรษะ

ในส่วนของผมที่ปลูกไปแล้ว Dr. Kaur ได้เจาะรากผมที่มี 2 เส้นออกจากบริเวณแถวหน้าสุดของแนวผม เพราะตามปกติแล้ว แนวผมด้านหน้ามักจะมีแต่ผมเส้นเดียว การที่มีผม 2 เส้นงอกออกมาจากรูเดียวจะดูไม่เป็นธรรมชาติอย่างมาก

ในผู้ป่วยรายนี้ Dr. Kaur ได้ทำการปลูกผมซ่อมแซมไปทั้งหมด 1500 กราฟ

หลังจากนั้นก็ทำการปลูกกราฟผมลงไปบริเวณที่เคยปลูกผมไปแล้วแต่ผมขึ้นไม่ดี

สิ่งสำคัญ คือ ก่อนการปลูกผม เราควรหาข้อมูลให้ดีก่อนและเลือกศัลยแพทย์ที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องที่จะทำการผ่าตัด เพราะหลายคลินิกไม่มีแพทย์ที่เชี่ยวชาญจริงๆ แต่ก็ยังเปิดรับคนไข้เพื่อมาทำผ่าตัดปลูกผม

สิ่งที่ทุกคนควรทราบเกี่ยวกับผมร่วงแบบกรรมพันธุ์หรือ Androgenetic alopecia (AGA) คือ

  • การปลูกผมนั้น รากผมที่ย้ายมาควรจะต้องมาจาก Safe zone
  • รับทราบว่า ผมร่วงแบบกรรมพันธุ์เป็นอาการผมร่วงที่มักจะดำเนินไปเรื่อยๆ ช้าๆ
  • สำหรับคนอายุน้อยที่ต้องการปลูกผม ไม่ควรทำแนวผมที่ต่ำเกินไป เพราะอาจไม่เข้ากับหน้าเมื่ออายุมากขึ้น รวมถึงควรรักษาเส้นผมเอาไว้เผื่อในอนาคตต้องได้รับการปลูกผมอีก
  • ประวัติครอบครัวเกี่ยวกับภาวะผมร่วงผมบาง มีผลอย่างมากในการวางแผนการรักษา
  • สิ่งที่ควรคำนึงถึง ไม่ใช่จำนวนกราฟต์ที่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ควรคำนึงถึงปริมาณผมที่เหลือเผื่อไว้ในอนาคต

แปลโดย พญ. วิภาวัน วัธนะนัย

Sharing is caring!

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.